แผนการเรียนชื่อหลักสูตร
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเคมี
Bachelor of Engineering Program in Chemical Engineering
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ชื่อปริญญาภาษาไทย : วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (เคมี)
ชื่อปริญญาภาษาอังกฤษ : Bachelor of Engineering (Chemical Engineering)
อักษรย่อภาษาไทย : วศ.บ. (วิศวกรรมเคมี)
อักษรย่อภาษาอังกฤษ : B.Eng. (Chemical Engineering)
จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 144 หน่วยกิต
รูปแบบของหลักสูตร
หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี จัดการศึกษาเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
การรับเข้าศึกษา
รับทั้งนิสิตไทยและนิสิตต่างชาติ
สถานภาพของหลักสูตรและการพิจารณาอนุมัติ/เห็นชอบหลักสูตร
- หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2559 เปิดสอน ภาคการศึกษาต้น พ.ศ.2559 ปรับปรุงจากหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเคมี หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2554
- สภาวิชาการให้ความเห็นชอบหลักสูตรในการประชุม ครั้งที่ 1/2559 วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2559
- สภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบหลักสูตรในการประชุม ครั้งที่ 3/2559 วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2559
- สภาวิศวกรเห็นชอบหลักสูตรเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2560 รับรองสำหรับผู้เข้าศึกษา ระหว่างปี พ.ศ.2559 – 2563
ความพร้อมในการเผยแพร่หลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
หลักสูตรมีความพร้อมในการเผยแพร่คุณภาพและมาตรฐานตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ในปีการศึกษา 2561
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังจากสำเร็จการศึกษา
- วิศวกรโรงงานอุตสาหกรรม องค์การธุรกิจและรัฐบาล เช่น วิศวกรรมเคมี วิศวกรกระบวนการผลิต วิศวกรโครงการ วิศวกรออกแบบและกระบวนการผลิต วิศวกรออกแบบผลิตภัณฑ์ วิศวกรที่ปรึกษา วิศวกรฝ่ายขาย เป็นต้น
- นักวิจัยฝ่ายวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเคมี
- อาจารย์ นักวิชาการ หรือรับราชการที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเคมี
- ประกอบอาชีพอิสระหรือผู้ประกอบกิจการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเคมี
ปรัชญาของหลักสูตร
หลักสูตรนี้มุ่งสร้างวิศวกรเคมีที่มีความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และการปฏิบัติ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ สามารถคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างเป็นระบบ สามารถทำงานเป็นทีมได้ ตลอดจนสามารถประยุกต์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาทางวิศวกรรมเคมี และเพิ่มผลผลิตของอุตสาหกรรมเคมีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และเป็นส่วนเสริมสร้างความสามารถทางด้านการแข่งขันและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้เป็นผู้มีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเคมีตามวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยบูรพา “ขุมปัญญาตะวันออกเพื่ออนาคตของแผ่นดิน”และยุทธศาสตร์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์เพื่อสร้างความโดดเด่นในอาเซียนโดยเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและการประกอบการอย่างรอบด้าน โดยบัณฑิตสามารถประกอบอาชีพเป็นวิศวกร ผู้ประกอบการ นักวิจัย อาจารย์ และมีความพร้อมในการศึกษาต่อขั้นสูงในระดับปริญญาโทและเอกด้านวิศวกรรมเคมีและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ความสำคัญของหลักสูตร
จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเคมีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ที่มีความต้องการวิศวกรเคมีที่มีความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรมเคมีและยังสามารถประยุกต์ความรู้ไปทำงานทางด้านพลังงาน ชีวเคมี สิ่งแวดล้อมและวัสดุได้ รวมถึงนักวิจัยเกี่ยวข้องเพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า การผลิตบัณฑิตที่สามารถปฏิบัติงานได้ทันทีหลังจากสำเร็จการศึกษาเพื่อรองรับความเจริญของชาติเสริมสร้างความสามารถทางด้านการแข่งขันและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community–AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน(ASEAN Socio-Cultural Community–ASCC) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อตกลงยอมรับร่วมกัน(Mutual Recognition Arrangements : MRAs) ด้านคุณสมบัติในสาขาวิชาชีพหลัก7 อาชีพ ที่สามารถเข้าไปทำงานในประเทศกลุ่มอาเซียนทั้ง10 ประเทศ ได้อย่างเสรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้จัดทำหลักสูตรนี้เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยและต่างประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องผลิตบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถ ในการบูรณาการองค์ความรู้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรมเคมี และมีทักษะในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้
หลักสูตรนี้จะมีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก(Outcome-based Curriculum) ซึ่งจะทำให้หลักสูตรสามารถผลิตบัณฑิตได้ตามคุณลักษณะที่ระบุไว้ในปรัชญาของหลักสูตร
น
ผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังของหลักสูตร (Expected Learning Outcomes, ELOs)
เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว บัณฑิตจะมีคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ความสามารถ และทักษะ ดังนี้
- สามารถประยุกต์ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พื้นฐานทางด้านวิศวกรรมและความรู้เฉพาะทางวิศวกรรมเคมีทั้งทางภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อกำหนดกรอบความคิดของแบบจำลองทางวิศวกรรมเคมี หรือนิยามและประยุกต์ วิธีการ กระบวนงาน กระบวนการหรือระบบงานทางวิศวกรรมเคมีในการทำงานได้อย่างถูกต้อง
- สามารถระบุปัญหา ตั้งสมการความสัมพันธ์ สืบค้นทางเอกสาร และแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรมเคมีที่ซับซ้อน จนได้ข้อสรุปเบื้องต้น โดยใช้หลักการและเครื่องมือวิเคราะห์ทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทางด้านวิศวกรรมเคมีได้อย่างถูกต้อง
- สามารถหาคำตอบของปัญหาทางวิศวกรรมเคมีที่ซับซ้อน และออกแบบระบบงานหรือกระบวนการทางวิศวกรรมเคมีตามความต้องการและข้อกำหนดงานโดยคำนึงถึงข้อกำหนดด้านสังคม ความปลอดภัย การอนามัยและสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพ
- สามารถตรวจสอบ วินิจฉัย ประเมินผลงานและปัญหาทางวิศวกรรมเคมีที่ซับซ้อน ซึ่งครอบคลุมถึงการตั้งสมมติฐาน การออกแบบการทดลอง การวิเคราะห์ การแปลความหมายข้อมูล และสังเคราะห์ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ได้ผลสรุปที่ถูกต้องตามหลักเหตุผล
- สามารถสร้าง เลือก และประยุกต์ใช้เทคนิควิธี ทรัพยากร อุปกรณ์เครื่องมือทางวิศวกรรมเคมีและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เหมาะสมและทันสมัย โดยคำนึงถึงข้อกำหนดและข้อจำกัดของเครื่องมือและอุปกรณ์นั้
- สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีความหลากหลายในสหสาขาวิชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำงานในฐานะสมาชิกของกลุ่มและผู้นำกลุ่มได้
- สามารถติดต่อสื่อสารในงานวิศวกรรมวิชาชีพอื่น และบุคคลทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิผลด้วยวาจา ด้วยการเขียนรายงาน การเสนอผลงาน การเขียนและอ่านแบบทางวิศวกรรมเคมี ตลอดจนสามารถออกคำสั่งและรับคำสั่งงานได้อย่างชัดเจน
- มีความเข้าใจและความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมเคมีต่อบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อมและสามารถประเมินผลกระทบของการแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรมเคมีที่ซับซ้อนต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน
- มีความเข้าใจและยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และยึดถือตามกรอบมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพ
- มีความรู้และความเข้าใจในด้านเศรษฐศาสตร์ การลงทุนและการบริหารงานวิศวกรรมเคมีโดยคำนึงถึงความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง
- ตระหนักถึงความจำเป็น และมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดชีพ
โครงสร้างหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 144 หน่วยกิต
1) หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต
1.1 กลุ่มวิชาภาษาเพื่อการสื่อสาร 12 หน่วยกิต
1.2 กลุ่มวิชาอัตลักษณ์และคุณภาพชีวิตบัณฑิตบูรพา 4 หน่วยกิต
1.3 กลุ่มวิชาทักษะชีวิตและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 7 หน่วยกิต
1.4 กลุ่มวิชานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ 4 หน่วยกิต
1.5 วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 หน่วยกิต
2) หมวดวิชาเฉพาะไม่น้อยกว่า 108 หน่วยกิต
2.1 หมวดวิชาเฉพาะพื้นฐาน 42 หน่วยกิต
2.1.1) กลุ่มวิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 21 หน่วยกิต
2.1.2) กลุ่มวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรม 21 หน่วยกิต
2.2 หมวดวิชาเฉพาะด้าน ไม่น้อยกว่า 66 หน่วยกิต
2.2.1) กลุ่มวิชาบังคับทางวิศวกรรม 57 หน่วยกิต
2.2.2) กลุ่มวิชาเลือกทางวิศวกรรม ไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต
3) หมวดวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต